วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2567

'อุทยาน' สุดบูม แค่ 9 เดือน เก็บเงินนักท่องเที่ยวได้ 1,785 ล้าน

 เกาะพีพีแชมป์ รายได้ทะลุ 500 ล้าน

'อุทยาน' สุดบูม แค่ 9 เดือน เก็บเงินนักท่องเที่ยวได้ 1,785 ล้าน


เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งเพิ่มศักยภาพและพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการนำเงินอุทยานแห่งชาติที่จัดเก็บได้ ไปใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และเน้นย้ำการจัดเก็บเงินอุทยานฯและใช้จ่ายงบอย่างโปร่งใส  


นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลยอดการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน (20 มิถุนายน 2567) ปรากฏว่ามียอดการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,785,493,410 บาท ซึ่งเป็นยอดสถิติการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ที่สามารถจัดเก็บเงินจนแซงหน้ายอดการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ทั้งปีของปี พ.ศ 2566 ไปแล้ว โดยในปีพ.ศ 2566 จัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติทั้งปีได้จำนวน 1,467,641,971 บาท


จากยอดการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มีปัจจัยมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม จนทำให้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญ ในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยอุทยานแห่งชาติที่สามารถจัดเก็บเงินได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 500,866,577 บาท



2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 243,655,470 บาท


3. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 127,820,710 บาท


4. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 114,226,610 บาท

5. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 100,545,505 บาท


โดยการจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สามารถจัดเก็บเงินรายได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน (วันที่ 20 มิถุนายน 2567) 9 เดือน สามารถจัดเก็บเงินได้จำนวนทั้งสิ้น 500,279,247 บาท ซึ่งเป็นสถิติการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ที่สามารถจะเก็บเงินจนแซงหน้ายอดการจัดเก็บเงิน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท โดยยอดการจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 เป็นจำนวนเงิน 208,572,803 บาท โดยสถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างปีพ.ศ. 2566 จำนวน 2,660,308 คน และปีพ.ศ. 2567 จำนวน 4,548,762 คน เพิ่มขึ้นถึง 1,888,454 คน หรือคิดเป็น 41.5 %


สำหรับเงินอุทยานแห่งชาติซึ่งจัดเก็บได้ จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในพื้นที่โซนบริการของอุทยานแห่งชาติ ใช้จ่ายเป็นค่าจ้างให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรในหน่วยงาน ตลอดจนการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติ สำหรับการพิจารณาใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติฯได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากองค์กรภายนอกอันเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพิจารณาการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆที่อยู่โดยรอบ อีกทั้งที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการพัฒนาการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติให้เกิดความโปร่งใส ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จนส่งผลให้ยอดการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตลอดจนการนำเงินอุทยานฯไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

Cr. เพจกรมอุทยานฯ


ที่มา:เพจข่าวสด

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ควายน้ำทะเลน้อยสู่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

 5 ปัจจัยควายน้ำทะเลน้อยสู่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย



ภูมิปัญญาการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยของจังหวัดพัทลุง ได้รับการยกย่องอย่างสูงเมื่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS) การได้รับการยอมรับในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติแก่ชุมชนท้องถิ่น แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญของระบบการเกษตรที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับธรรมชาติ


● ความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ดี

การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นรูปแบบการเกษตรที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านในพื้นที่สามารถพึ่งพาแหล่งอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การประมง หรือการเพาะปลูกพืชพื้นบ้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนมีอาหารเพียงพอและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


● ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร

พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งในด้านพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารอาหารในระบบนิเวศอย่างสมดุล



● ระบบความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชุมชนในพื้นที่ทะเลน้อยมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาแต่ดั้งเดิม การเลี้ยงควายปลักเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ภูมิปัญญานี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาระบบนิเวศ แต่ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนท้องถิ่น


● วัฒนธรรมและระบบคุณค่า


การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ทะเลน้อยไม่ใช่เพียงแค่การทำเกษตรกรรม แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ควายปลักไม่เพียงแต่เป็นสัตว์เลี้ยง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ วัฒนธรรมนี้ทำให้ชุมชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


● ลักษณะภูมิทัศน์และภูมิทัศน์ทางทะเล

ภูมิทัศน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีความงดงามและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่นี้ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์และระบบนิเวศ ทั้งยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ



การที่ควายน้ำพื้นที่ทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแสดงให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การยกย่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติแก่ชุมชนในพื้นที่ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ ในการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป

กินของหรอย

 กินของท้องถิ่น